พอดีผู้อ่านหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนายจ้าง สอบถามว่า ลูกจ้างเด็กถูกพรากผู้เยาว์ นายจ้างแจ้งความได้หรือไม่
เรื่องนี้เป็นปัญหาพอสมควร เนื่องจากเมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น ลูกจ้างถูกพรากผู้เยาว์ นายจ้างพาไปแจ้งความ พนักงานสอบสวนมักจะแจ้งให้นำบิดามารดาของลูกจ้างมาเป็นคนแจ้งความ บางครั้งบิดามารดาลูกจ้างไม่สะดวกหรืออยู่ในที่ห่างไกลคดีจึงเกิดการล่าช้าออกไป ทนายวิรัช เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่าน จึงขอนำเสนอเป็นเรื่องเล่า
นางสาวเล็ก อายุ 15 ปี เป็นลูกจ้างของนางใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหาร และนางสาวเล็กก็ได้พักอาศัยกับนางใหญ่ โดยพ่อแม่ของนางสาวเล็กนำมาฝากไว้กับนางใหญ่
มีอยู่วันหนึ่ง นายชัยได้พานางสาวเล็กไปเที่ยวและภายหลังได้พานางสาวเล็กไปร่วมหลับนอนที่โรงแรม และหายไปหลายวัน นางใหญ่จึงได้แจ้งความกับตำรวจโดยแจ้งข้อหา พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจ คดีนี้จึงขึ้นสู่ศาล
นายชัยจึงได้มอบหมายให้ทนายความต่อสู้คดีว่า การพรากนั้นต้องเป็นการพรากผู้เยาว์จากพ่อแม่เท่านั้น นายจ้างจึงไม่มีสิทธิ
คดีนี้ศาลจึงมีคำตัดสินดังนี้
ตามกฎหมายนั้น คำว่าผู้ปกครอง หมายถึง ผู้มีฐานทางกฎหมายเกี่ยวพันกับผู้เยาว์ เช่น บิดา มารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ส่วนผู้ดูแลหมายถึงผู้ควบคุม ระวังรักษาผู้เยาว์โดยข้อเท็จจริง เช่น นายจ้าง เมื่อนางใหญ่ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นนายจ้างประกอบกับบิดามารดาของนางสาวเล็ก ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายให้นางใหญ่ปกครองดูแลนางสาวเล็ก โดยนางใหญ่ให้นางสาวเล็กพักอยู่ที่ร้านอาหาร นางใหญ่จึงเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลนางสาวเล็กในฐานะนายจ้างโดยได้รับมอบหมายจากบิดามารดาของนางสาวเล็กด้วย การกระทำของนายชัย จำเลย เป็นการรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลนางสาวเล็ก โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการพรากนางสาวเล็กไปจากความดูแลของนางใหญ่จึงเป็นความผิดตามกฎหมาย
ทนายวิรัช ขอสรุปว่า นายจ้างถือเป็นผู้ดูแลและมีหน้าที่ควบคุมลูกจ้างที่เป็นผู้เยาว์ ดังนั้น เมื่อมีการพรากผู้เยาว์ นายจ้างจึงมีอำนาจและเป็นผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีได้