พอดีทนายวิรัชได้อ่านคำพิพากษาเรื่องนี้แล้วเห็นว่า ถ้าศาลเชื่อไปในแนวแนวทางการต่อสู้ของจำเลย ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยต้องเครียดแน่
คดีนี้เป็นเรื่องที่ นายดำ เข้าไปขโมยสินค้าในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง และถูกจับได้ เบื้องต้น นายดำให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น
คดีนี้จึงขึ้นสู่ศาล นายดำต่อสู้คดี โดยต่อสู้ประเด็นว่า การกระทำของนายดำ (จำเลย) ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เนื่องจากผู้เสียหาย (ร้านสะดวกซื้อ) นำสินค้าซึ่งเป็นของร้านสะดวกซื้อ มาวางเพื่อจำหน่ายตามชั้นวางสินค้า กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวย่อมเป็นของผู้เสียหาย แต่เมื่อจำเลยเลือกและหยิบสินค้าออกมาตามต้องการแล้ว กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวย่อมโอนมาเป็นของจำเลยทันที เพราะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง
เมื่อศาลพิจารณาตามประเด็นการต่อสู้ของจำเลยแล้ว จึงมีคำพิพากษาว่า หลักเรื่องกรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งที่จำเลยอ้างมานั้น เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางแพ่งของสัญญาซื้อขายที่ได้มีการกระทำโดยสุจริต ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาความรับผิดชอบในทางอาญา ดังเช่น กรณีนี้ เนื่องจากทรัพย์สินของผู้เสียหายที่วางไว้ในร้านของผู้เสียหายเพื่อจำหน่ายแก่ผู้มาซื้อ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นของผู้เสียหาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเอาไปซึ่งทรัพย์ดังกล่าวด้วยวิธีการนำไปซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้าของจำเลย โดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคา จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
ทนายวิรัช ขออธิบายเพิ่มเติมว่า องค์ประกอบในความผิดฐานหลักทรัพย์นั้น คือ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น โดยทุจริต ทนายวิรัชเห็นว่าจำเลยพยายามจะใช้กฎหมายแพ่งในเรื่องของการที่จำเลยหยิบของชิ้นนั้นแล้ว และเป็นสินค้าที่ได้เลือกแล้วจึงเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ดังนั้น เมื่อพิจารณาไปตามที่จำเลยกล่าวอ้างแล้ว สินค้านั้นก็จะเป็นของจำเลย จึงไม่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป ก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิด โชคดีที่ศาลไม่ได้พิจารณาไปตามนั้น จำเลยจึงมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย