พอดีมีผู้อ่านหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจท่านหนึ่งสอบถามทนายวิรัชว่า ญาติของตนเองได้บุกรุกที่ดินของรัฐและอยู่ได้มาระยะหนึ่ง ภายหลังมีบุคคลอื่นเข้ามาบุกรุกและมาอาศัยในที่ดินดังกล่าว สามารถฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกซ้อนได้หรือไม่
เรื่องนี้เป็นปัญหาพอสมควร และทนายวิรัชเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านโดยทั่วไป
ตามหลักการแล้ว การที่เอกชนคนแรกเข้าไปครอบครองใช้สอยทรัพย์สินของรัฐที่เป็นสาธารณะย่อมเป็นความผิดทางอาญา เมื่อทำผิดอาญาแล้วเอกชนคนที่สองเข้ามาก็ผิดอาญาเหมือนกัน ส่วนว่าได้ทำละเมิดต่อเอกชนคนแรกหรือไม่นั้นเรื่องนี้ศาลเคยมีแนวตัดสินว่า แม้ว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่อาจตั้งสิทธิใดๆ ใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน ผู้ที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยบุคคลอื่น มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้ราษฎรแย่งสิทธิระหว่างกันเองได้ตามอำเภอใจ ดังนั้น หากโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนสิทธิของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้
ทนายวิรัช สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ผู้เข้ามาบุกรุกก่อนมีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากผู้เข้ามาบุกรุกซ้อน
พบกันใหม่ฉบับหน้า