ทนายวิรัช ได้รับอีเมล์จากผู้อ่าน สอบถามว่า พี่น้องกันแต่งงาน (สมรส) กันได้หรือไม่
ทนายวิรัช เห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหาพอสมควร นอกจากเรื่องนี้ก็จะมีกรณีญาติสนิทกันสมรสกัน ว่าจะมีผลตามกฎหมายหรือไม่
ในสมัยโบราณการเป็นญาติสนิทมีเหตุผลในทางศีลธรรมที่ห้ามทำการสมรสกัน เพราะเป็นสิ่งที่น่าอดสูละอายที่จะมาเป็นสามีภริยา
ส่วนในทางการแพทย์ ทนายวิรัช ได้สอบถามเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็มีเหตุผลที่น่าสนใจว่า บุตรที่เกิดมาจากกรณีดังกล่าว อาจจะเป็นโรคปัญญาอ่อนหรือมีสุขภาพไม่แข็งแรง เพราะบุคคลเหล่านั้นมียีนส์ (genes) ที่เหมือนกัน
ในประเด็นด้านกฎหมาย กฎหมายแพ่งของประเทศไทย ก็มีหลักห้ามไม่ให้ทำการสมรสกันระหว่างญาติสนิท โดยญาติสนิทตามกฎหมาย มี 4 ประเภท คือ
- ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และ ทวด ตัวอย่าง ลูกสาว(บุตร)จะทำกับสมรสพ่อ(บิดา) ไม่ได้
- ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เช่น พี่ชายสมรส กับน้องสาวไม่ได้
- พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา เช่น พี่ชายสมรสกับน้องสาวต่างมารดาไม่ได้
หากญาติสนิทตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำการสมรสกันเป็นการฝ่าฝืนตามกฎหมาย การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
ทนายวิรัช จึงขอตอบคำถามว่า พี่น้องกันสมรสกันไม่ได้ ผิดทั้งศีลธรรม และกฎหมาย แต่ถ้าฝ่าฝืนก็จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะ