ยิ้มได้..เมื่อภัยมา
ทนายวิรัช ได้รับโทรศัพท์จากท่านผู้อ่านมาสอบถามปัญหาด้านกฎหมาย
ผู้อ่าน : สวัสดีค่ะ..ทนายวิรัช
ทนายวิรัช : สวัสดีครับ.
ผู้อ่าน : ดิฉันติดตามอ่านหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจเป็นประจำ
ทนายวิรัช : ขอบคุณแทนเจ้าของหนังสือพิมพ์ด้วยครับ
ผู้อ่าน : ดิฉันหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาก็จะมาอ่านหน้า 24
ซึ่งเป็นบทความของทนายวิรัชก่อน
ทนายวิรัช : ขอบคุณครับ
ผู้อ่าน : วันนี้ดิฉันมีปัญหาอยากปรึกษาทนายวิรัช ไม่ทราบ
สะดวกหรือไม่
ทนายวิรัช : สะดวกและมีความยินดีมากครับ..
ผู้อ่าน : ดิฉันได้ไปกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท
ทนายวิรัช : ได้จัดทำสัญญากู้ยืมและรับเงินถูกต้องหรือไม่
ผู้อ่าน : ได้จัดทำสัญญากู้ยืมและได้รับเงินครบถ้วนแล้วค่ะ..
ทนายวิรัช : อย่างนี้สัญญากู้ยืมก็สมบูรณ์ ใช้บังคับได้
ผู้อ่าน : ปัญหามีอย่างนี้..เมื่อถึงกำหนดชำระคืนให้กับเจ้าหนี้
ดิฉันไม่สามารถชำระคืนได้ เนื่องจากประสบปัญหาธุรกิจ
ดิฉันจึงได้ขอความเห็นใจกับเจ้าหนี้
ทนายวิรัช : คนไทยน่าจะเห็นใจกัน
ผู้อ่าน : เรื่องไม่ได้เป็นเช่นนั้น..
ทนายวิรัช : แล้วเป็นอย่างไรครับ
ผู้อ่าน : เจ้าหนี้บอกว่า นอกจากฟ้องคดีเงินกู้แล้วจะฟ้องให้ล้มละลาย
ดิฉันอยากสอบถามทนายวิรัชว่า ถ้าเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว
จะเกิดอะไรขึ้น
ทนายวิรัช : บุคคลล้มละลาย ถ้าเปรียบเทียบกับโทษทางคดีอาญา
เหมือนถูกประหารชีวิตทางแพ่ง เสียสิทธิหลายประการ เช่น
ไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรได้เลย ตัวอย่างเช่น ทำสัญญากู้
สัญญาซื้อขาย ฯลฯ และรวมถึงไม่สามารถออกนอกประเทศได้
ผู้อ่าน : อย่างนี้ก็แย่สิค่ะ ทำอะไรไม่ได้เลย
ทนายวิรัช : ใช่ครับ
ผู้อ่าน : แล้วจะต้องหมดสิทธิอย่างนี้ไปตลอดหรือไม่
ทนายวิรัช : 3 – 5 ปี (แล้วแต่กรณี)
ผู้อ่าน : แล้วอย่างนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรละค่ะ
ทนายวิรัช : ไม่ต้องทำอะไรหรอกครับ
ผู้อ่าน : ทำไมละค่ะ
ทนายวิรัช : บุคคลธรรมดาที่จะถูกฟ้องคดีล้มละลายได้ จะต้องเป็นหนี้
จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท
ผู้อ่าน : (หัวเราะ)